ยินดีต้อนรับสู่ SLOW SET TRADE

Tuesday, August 10, 2010

กูรูหุ้นพันล้าน : บทอวสาน “สุดยอด…วิชัย วชิรพงศ์”

ตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึง ตอนที่ 27 มี วลีเด็ดๆ ที่น่าสนใจดังนี้


ตอนที่ 1 เงินนี่มันแปลก เงิน 1 ล้านบาท คุณจะเพิ่มให้เป็น 2 ล้านบาท ช่วงนี้จะยากมาก แต่จาก 2 เพิ่มเป็น 4 เริ่มง่าย จาก 4 เพิ่มเป็น 8 ยิ่งง่ายกว่า…นี่เรื่องจริง

ตอนที่ 2 ถ้าในโลกนี้ใครได้อะไรมาง่ายๆ ก็ยากที่จะรักษาให้มันอยู่กับเราได้อย่างยั่งยืน

ตอนที่ 3 หุ้นจะเป็นขาขึ้น “ราคา” และ “ปริมาณ” จะต้องเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

ตอนที่ 4 ถ้าเราเลือกหุ้นพี/อี ต่ำ พื้นฐานดี แต่ซื้อแล้วราคาไม่ขึ้น…มีแต่ลง แสดงว่าความคิดของเรา “ผิด” คุณต้องเปลี่ยน “อย่าดันทุรัง”

ตอนที่ 5 สมัยที่ยังเล่นหุ้นไม่เก่ง วิธีที่ผมใช้…จะลอกข้อสอบคนเก่ง แต่ระหว่างที่เราลอกข้อสอบเขา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองตามให้ทัน

ตอนที่ 6 ในการเล่นหุ้นให้ชนะตลาด เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ เพราะการ “ฝืนกระแส” จะทำให้เรา “เสี่ยงสูง” ที่จะขาดทุน

ตอนที่ 7 จากประสบการณ์ 20 ปี จะซื้อหุ้นให้ได้กำไร เราต้องกล้าไปจ่ายตลาด “ตอนประมาณ ตี 5″ หรือ อีก 1 ชั่วโมงฟ้าจะสว่าง…ผีไม่มี

ตอนที่ 8 วิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ต้องเผชิญกับ “วิกฤตการณ์” ทางเดียวที่จะทำให้เรา “รอด” คือ การตัดนิ้ว (Cut Loss) ยอมขาดทุนรักษาชีวิต

ตอนที่ 9 ความลับของเงินจะเติบโตก็เฉพาะกับคนที่รู้จักใช้มันเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

ตอนที่ 10 การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส “ร่ำรวย” ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจซื้อ-ขายบ่อยโอกาสผิดพลาดจะสูง

ตอนที่ 11 คำศัพท์ของนักเล่นหุ้น เขาบอกว่า “ลูกยังเล็กอยู่” เราจะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ “อันตราย” เราต้อง Cut Loss ทิ้ง

ตอนที่ 12 ในจังหวะที่หุ้นเป็นขาขึ้น เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมาพร้อมวอลุ่ม เราต้องรีบล้างพอร์ตออกไป

ตอนที่ 13 ท่องเอาไว้เลย “วอลุ่มพีค” คือ “ราคาพีค” และ ถ้าหุ้นปรับฐานแล้ว “รีบาวด์” แต่ไม่ทำ “นิวไฮ” ใหม่…”มันต้องลง”

ตอนที่ 14 ถ้าหุ้นเป็น “ขาลง” แล้ว “วอลุ่มหาย” นี่เป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหุ้นเป็น “ขาขึ้น” แล้ว “วอลุ่มหาย” นี่มันผิดกฎธรรมชาติ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า “มันกำลังจะวิ่ง”

ตอนที่ 15 นิสัยผมถ้าอะไรที่ไม่แน่ใจเต็มร้อย ผมจะเข้าไปลงทุนด้วยเงินก้อนน้อยๆ ก่อน ยิ่งถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร จะเล่นเป็นรอบ จะไม่ทุ่มสุดตัว และไม่ถือยาว

ตอนที่ 16 คำว่า “ข่าวลือ” คุณต้องแอบพูดในที่ “ลับ” ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้…มาบอกนักข่าว แสดงว่า “จบรอบ” แล้ว…คุณต้องทิ้ง

ตอนที่ 17 ถ้าจะเล่น “หุ้นปั่น” เราต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นใส่เรา

ตอนที่ 18 กรณีที่หุ้นจะปรับตัว “ลงแรง” วอลุ่มมักจะทำ “พีค” ก่อน ให้สังเกตว่ารายย่อยจะแห่เข้าใส่ แบบไม่ลืมหูลืมตา เวลาที่หุ้นปรับตัวมันจะ “ลงลึก”

ตอนที่ 19 ในช่วงของการสะสมหุ้น ถ้าเป็น “หุ้นดี” ให้สังเกตฝั่ง Bid จะน้อย แต่ฝั่ง Offer จะเยอะ ภาวะอย่างนี้คือ ช่วงที่ดัชนี SET ประมาณ ตี 4 ตี 5 คนยังเล่นหุ้นไม่เต็มตัว เขาจะรอรับ แต่ไม่ไล่ราคา

ตอนที่ 20 “เฮียประธาน” เขาเป็นเจ้าของคอร์ทแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ “พญาอินทรี” ถ้าวันไหนที่พวกเรา “เละ” หรือ “เจ๊ง” กันหมด เขาจะบินมาเลย…เขาจะมาซื้อหุ้น

ตอนที่ 21 การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า “รายย่อย” สงบเสงี่ยมเจียมตัว “ฝรั่ง” ไม่เข้า บอกได้เลยว่าเล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ “ได้ตังค์”

ตอนที่ 22 ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้นคือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้

ตอนที่ 23 ถ้าคิดจะ “สร้างราคาหุ้น” แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นมืออาชีพ เขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อน แล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย…ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ถึงจะสำเร็จ !!!

ตอนที่ 24 พูดตรงๆ ผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมด บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา มันไม่คุ้มหรอก…เชื่อผมสิ!!!

ตอนที่ 25 วิธีการลงทุนแบบ “แวลู อินเวสเตอร์” ส่วนตัวมองว่า “มันเสี่ยง” บางทีหุ้นลงก็ต้องถือ เพราะคุณคิดว่าพื้นฐานมันไม่เปลี่ยน เดี๋ยวมันก็ต้องกลับมา แต่เมื่อไรล่ะ!! ถ้าคุณไม่ Cut Loss ตอนหุ้นลง มันเสียโอกาส

ตอนที่ 26 ลักษณะตลาดหุ้นที่แกว่งตัวออกด้านข้าง และไม่มีข่าวดีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในตลาด คนที่เล่นหุ้นแล้วได้ตังค์ ต้อง “เล่นรอบ” คือ เล่นหุ้นแบบ “ปิงปอง” จะได้เปรียบ แต่อย่าไปทุ่มเทอะไรกับมันมาก

ตอนที่ 27 วอร์แรนท์ที่ราคาแปลงสภาพ “ต่ำกว่าหุ้นแม่” ยิ่งเหลืออายุน้อย เจ้ามือยิ่งกดรายย่อยให้ปล่อยหุ้นออกมา เพราะเขารู้ว่าไม่มีเงินไปแปลงสภาพแน่ เขาก็บีบซื้อราคาถูกเอาไปแปลงสภาพเอง

นอกจากนี้ “เสี่ยยักษ์” ยังมีเคล็ดไม่ลับ ที่อยากฝากแฟนๆ “ถนนนักลงทุน” อีก 5 ข้อ
“คำพูดที่ผมอยากจะฝากไว้ จำเอาไว้เลยนะ…”

1.อย่าตามหลังมวลชน
2.จุดที่มั่นใจที่สุด คือ จุดที่อันตรายที่สุด
3.จุดที่อันตรายที่สุด คือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด นั่นคือ ประมาณ “ตี 5″ ถึง “ตี 5 ครึ่ง” (ก่อนฟ้าสาง)
4.อย่าคิดคนเดียว อย่าตอบคำถามคนเดียว อย่าเล่นหุ้นคนเดียว และ
5.คนเล่นหุ้นให้ชนะ ต้องเลิกนิสัย “ถามเอง-ตอบเอง-เออเอง” สุดท้าย “เจ๊งลูกเดียว”

http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I9568065/I9568065.html
Wednesday, April 7, 2010

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์

ตำนานความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย จุดเด่นของบัฟเฟตต์นั้น นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้น ๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย นอกจากนั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก “ธุรกิจ” เขาเป็นแค่ “นักลงทุน” มาตลอดชีวิต ดังนั้น นักลงทุนหนุ่ม ๆ จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่าพวกเขาก็สามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด “อาชีพ” การเป็น “นักลงทุน” ตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์ แต่นี่เป็นหนทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ จริงหรือ? ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงินประมาณ 47,000 ล้านเหรียญหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร


พูดถึง “เงินเริ่มต้น” ของบัฟเฟตต์ก่อน ตาม “ตำนาน” นั้น บอกว่าบัฟเฟตต์เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 100 เหรียญหรือไม่กี่พันบาทไทย แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี “รายได้อื่น” เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำอย่างไรผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้ บางทีเขาอาจจะมีเงินในวันนี้สัก50-60 ล้านเหรียญ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงต้น ๆ ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเองนั้นน่าจะเป็น “รายได้ส่วนน้อย” รายได้สำคัญนั้นน่าจะเป็น “รายได้อื่น” ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง นั่นก็คือ เป็นรายได้จากการ “รับจ้างลงทุน” ซึ่งก็คือ ส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร รายได้ส่วนนี้ บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อย ๆ และทำให้เงินในส่วนของตนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก ผลตอบแทนของพอร์ตโตปีละ 40-50% ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านเหรียญเมื่อเขาอายุ 38 ปี และนี่คือการจบ “บทที่หนึ่ง” ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์

บทเรียนของ “บทที่หนึ่ง” ก็คือ ในช่วงแรก ๆ ที่คุณยังมีเงินน้อยมากนั้น คุณควรจะต้องทำงานหาเงิน ในเมืองไทยเองนั้น การรับบริหารพอร์ตเป็นเรื่องเป็นราวนั้นทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมาย ยิ่งกว่านั้น การบริหารพอร์ตที่มีตลาดหรือมีคนสนใจให้บริหารนั้น มักจะเป็นเรื่องของการบริหารแบบเก็งกำไรที่คนทำจะต้องมีชื่อเสียงเป็น “เซียนหุ้น” ที่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือมีอิทธิพลชี้นำราคาหุ้นได้ การบริหารการลงทุนแบบ Value Investment นั้น ช้าเกินไปและคงหาคนมาลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำได้ยาก ว่าที่จริง บัฟเฟตต์เองก็ได้เงินส่วนใหญ่มาจากญาติพี่น้องและคนที่รู้จักมักคุ้นเท่านั้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ดังนั้น ถ้าคุณยังไม่เก่งหรือดังพอที่จะรับจ้างลงทุน สิ่งที่ควรทำก็คือ ทำงานหาเงินมาเพิ่ม “พอร์ตเริ่มต้น” ให้มากพอจนกระทั่ง “เงินจากการลงทุน” จะมากกว่าเงินจากการทำงานมาก ๆ และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยเริ่ม “บทที่สอง”

บทที่สองของบัฟเฟตต์ก็คือ การลงทุนเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ การใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และนั่นคือช่วงประมาณปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุนและคืนเงินให้คนที่มาให้บริหารซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุดและกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี ในช่วง 10 ปีนับจากปี 1969 ถึง 1979 ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนเพียงอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านเหรียญนั้น ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากเนื่องจากเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึงสองช่วงคือ ในปี 1969-71 และในช่วง 1973-74 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดในช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 4.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์นั้นกลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5% เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8% และนี่คือศิลปะแห่งการ “เอาตัวรอด” ในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์

ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนเพียงอย่างเดียวของบัฟเฟตต์คือช่วงปี 1979-1989 นั้นเป็นช่วง “ฟื้นตัว” ของตลาดหุ้น ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5% แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1% ชนะตลาดถึง 26.6% ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านเหรียญในปี 1989

ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 นั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาบูมมากและถือเป็นทศวรรษของการลงทุน ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้านั้น ส่วนหนึ่งก็คือ ในช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเท็คและหุ้นเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตซึ่งบัฟเฟตต์เองไม่ยอมลงทุน ดังนั้น ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับประมาณ 20.5% โดยเฉลี่ย และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1% ในปี 1998 บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลกด้วยความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านเหรียญ เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา

ช่วงสิบปีสุดท้ายคือตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 นั้นเป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเตอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9% อานิสงค์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเท็คจึงไม่ถูกกระทบมากนัก ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดประมาณ 8.6% นั้นถึงแม้ว่าจะยังสูงแต่ก็ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน นี่อาจจะเป็นผลจากการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมามากจนการทำผลตอบแทนที่สูงมากนั้น ทำได้ยากขึ้นมาก

ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43% เงินหนึ่งเหรียญจะกลายเป็น 2,362 เหรียญ ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.24% ต่อปี เงินหนึ่งเหรียญกลายเป็น 16.4 เหรียญ ผลต่าง 14.19% ต่อปีนั้น เป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับเม็ดเงินมหาศาลอย่างของบัฟเฟตต์

การ “เดินทาง” ของบัฟเฟตต์นั้น เป็นเส้นทางที่ “ขีดเขียน” ขึ้นด้วยฝีมือและ แน่นอน ด้วยดวงชะตา เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก “ขีดเขียน” ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของชีวิต ว่าที่จริง VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทยนั้น เพิ่ง “เริ่มเดินทาง” หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก และความยากนั้นอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมาก ๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของบัฟเฟตต์

Posted by ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร on Sunday, March 21, 2010 at 11:19 am


Filed under โลกในมุมมองของ Value Investor · Tagged with
Tuesday, April 6, 2010

ชีวิตพอเพียงของมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก

วอร์เรน บัพเฟตต์ (Warren Buffet)


มีรายการสัมภาษณ์หนึ่งชั่วโมงของสถานีโทรทัศน์ CNBC สัมภาษณ์ วอร์เรน บัพเฟตต์ มหาเศรษฐีอันดับสองของโลก (รองจากบิล เกตส์) ซึ่งบริจาคเงินให้การกุศลถึง 31 , 000 ล้านดอลล่าร์

(เป็นเงินไทยก็ราวๆ 1,000,000,000,000 อ่านว่า 1 ล้าน ล้านบาท)


ต่อไปนี้คือแง่มุมบางส่วนที่น่าสนใจยิ่งจากชีวิตของเขา :

1) เขาเริ่มซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ขวบ และปัจจุบันบอกว่ารู้สึกเสียใจที่เริ่มช้าไป!

2) เขาซื้อไร่เล็กๆ เมื่ออายุ 14 โดยใช้เงินเก็บจากการส่งหนังสือพิมพ์

3) เขายังอาศัยอยู่ในบ้านเล็กหลังเดิมขนาด 3 ห้องนอน กลางเมืองโอมาฮา ที่ซื้อไว้หลังแต่งงานเมื่อ 50 ปีก่อน เขาบอกว่ามีทุกสิ่งที่ต้องการในบ้านหลังนี้ บ้านเขาไม่มีรั้วหรือกำแพงล้อม

4) เขาขับรถไปไหนมาไหนต้วยตนเอง ไม่มีคนขับรถหรือคนคุ้มกัน

5) เขาไม่เคยเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว แม้จะเป็นเจ้าของบริษัทขายเครื่องบินส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

6) บริษัท เบิร์กไช แฮทะเวย์ ของเขามีบริษัทในเครือ 63 บริษัท เขาเขียนจดหมายถึงซีอีโอของบริษัทเหล่านี้เพียงปีละฉบับเดียว เพื่อให้เป้าหมายประจำปี เขาไม่เคยนัดประชุมหรือโทรคุยกับซีอีโอเหล่านี้เป็นประจำ

7) เขาให้กฎแก่ ซีอีโอ เพียงสองข้อ

กฎข้อ 1 อย่าทำให้เงินของผู้ถือหุ้นเสียหาย

กฎข้อ 2 อย่าลืมกฎข้อ 1

8 ) เขาไม่สมาคมกับพวกไฮโซ การพักผ่อนเมื่อกลับบ้าน คือทำข้าวโพดคั่วกินและดูโทรทัศน์

9) บิล เกตส์ คนที่รวยที่สุดในโลก เพิ่งพบเขาเป็นครั้งแรกเมื่อห้าปีก่อน บิล เกตส์คิดว่าตนเองไม่มีอะไรเหมือนวอร์เรน บัพเฟตต์เลย จึงให้เวลานัดไว้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อบิล เกดส์ได้พบบัฟเฟตต์จริงๆ ปรากฏว่าคุยกันนานถึงสิบชั่วโมง และบิล เกตส์กลายเป็นผู้มีศรัทธาในตัววอร์เรน บัพเฟตต์

10) วอร์เรน บัพเฟตต์ ไม่ใช้มือถือ และไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน

11) เขาแนะนำเยาวชนคนหนุ่มสาวว่า :

ที่สุดของชีวิต คือ มีปัจจัย ๔ อย่างเพียงพอนั่นเอง

สมมุติว่าผมมีเงินอยู่ในห้นสัก 1,000,000 บาท กับ เป็นหนี้ซื้อบ้าน 1,500,000 ผมจะทำยังไง ?

สมมุติว่าผมมีเงินอยู่ในห้นสัก 1,000,000 บาท

ด้วยเงินจำนวนนี้สมมุติผมได้ปันผลสัก 7 เปอร์เซนต์ ต่อปี แต่เป็นหนี้ซื้อบ้าน 1,500,000 ผมเงินเดือน 25,000 แฟนผมไม่ได้ทำงาน แต่ผมต้องมีภาระคังนี้

ผ่อนบ้านเดือนละ 10,000 บาท
ให้พ่อกับแม่เดือนละ 3,000 บาท
ค่านมลูก เดือนละ 3,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในบ้านอีกปรมาณ 6,000 บาท
ค่าน้ำมัน 1,000 บาท
เหลือแค่ 3,000 บาท ต่อเดือน

ผมต้องเป็นอย่างนี้มาเป็นปีแล้วครับ เลยอยากถามความเห็นพี่ๆดูครับ ว่าสมควรอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆหรือตัดสินใจโปะบ้านดีคับ แล้วค่อยเริ่มเก็บเงินใหม่ เพราะดูแล้วตามความคิดผมมันคงไม่ได้แล้ว อีกหน่อยลูกโต ยิ่งจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ ขอความเห็นพี่ๆประกอบการตัดสินใจครับ

..........................

ผมคิดหลายวิธี

1.ขายบ้านมาซื้อหุ้นเพิ่มครับ

สมมุติว่าขายได้เต็ม 1.5m

แล้วเอาไปลงทุนเพิ่มจะได้ 1+1.5 = 2.5m

ได้ปันผลปีละ 7% จะได้ 2.5*0.07= 0.175m/ ปี

ดังนั้นจึงเอาเงินปันผลไปลงทุนเพิ่มต่ออีกในปีที่ 2 จะได้เงินต้นเป็น 2.675m

ปันผลปีที่ n จะเพิ่มขึ้นตามเงินต้นที่เพิ่มขึ้น

-ข้อเสีย ไม่มีบ้านอยู่ เพราะขายไปแล้ว


2.ขายหุ้นทั้งหมดมาซื้อบ้าน

สมมุติว่าไม่รีรอ จะถอนหุ้นออกหมดเลยนะ จะได้ 1m เอาไปโปะ

ดังนั้นเหลือผ่อนบ้าน 1.5-1=0.5m หรือ 500,000

ซึ่งคุณผ่อนเดือนละ 10,000 เท่ากับ 120,000/ปี เท่ากับว่าเหลือผ่อนบ้านประมาณ 4 ปีครึ่ง


3.เอาบ้านไว้ให้เช่า แล้วไปอยู่กับพ่อแม่ ส่วนค่าเช่าที่ได้เอาไปผ่อนบ้าน อันนี้จะเหมือนภูเขาน้ำแข็งในน้ำน่ะครับ เหมือนน้อยแต่ไม่คุ้มเพราะค่าใช้จ่ายแอบแฝงจะคำนวนยาก


-เงินจ่ายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือน ก็มีแล้ว

-เงินให้พ่อแม่ ก็มีแล้ว

-เงินลงทุน ก็มีแล้ว เยอะด้วย ได้ดอกเบี้ยปีละ 7% ตกปีละ 70,000 บาทประมาณเดียวกะหุ้นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ถือว่าไม่เสี่ยงมาก ให้ถือไว้ยาว ๆ แต่ก็สามารถเพิ่มศักยภาพการลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นได้ โดยหาเวลาไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม (มีเงินล้านแรกนี่ จะมีล้านต่อ ๆ ไปไม่ยากแล้ว นี่ถือว่ามาถูกทางแล้ว ไม่ควรขายทิ้งไปโปะบ้านเด็ดขาด)

-มีเงินเหลือ 3,000 บาท (แต่คำนวณข้างบนได้ 2,000 บาทนะ) ตรงนี้สำคัญมาก เก็บไว้เป็นกองทุนสำรองฉุกเฉินของครอบครัว (เราเรียกเองว่า กองทุนสบายใจเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของตนเองและครอบครัว) เผื่อกรณีคุณตกงาน/เจ็บป่วยจนต้องออกจากงาน/ทุพลภาพทำงานไม่ได้/เสียชีวิต พูดง่าย ๆ กรณีไม่มีรายได้ประจำเข้าครอบครัวอีกแล้ว ถึงจะนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ได้นอกเหนือจากนั้น ห้ามใช้เด็ดขาด! อ้อ 3,000 บาท ถือว่าเป็น 12% ของรายได้ ดีพอใช้ได้เลยไม่น้อยจนเกินไป แต่ถ้าได้ซัก 20% ของรายได้จะหรูมาก อนาคตมีสิทธิ์สบาย *** เก็บให้ได้ซัก 75,000 - 140,000 แล้วจึงหยุดเก็บ ปล่อยให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานต่อไป ***

-ส่วนค่าบ้าน ล้านห้า ก็ถือว่าราคาไม่ได้สูงมาก แต่ก็สูงเกินฐานะของคุณ (หมายถึงรายได้ต่อปี) จริง ๆ ดูจากเงินเดือน ราคาบ้านคุณไม่ควรเกิน 900,000-1,000,000 บาท จะสามารถผ่อนได้สบายกว่านี้ (กรณีไม่มีเงินดาวน์) แต่ถ้ามีเงินดาวน์ก็บวกเพิ่มเข้าไปในราคาที่บอก

*** ที่สำคัญไม่แนะนำให้ขายหุ้นมาโปะบ้าน เพราะ ดอกเบี้ยบ้านไม่น่าถึง 7% ต่อปี แต่ปันผลได้ประมาณ 7% ก็ถือหุ้นไว้ดีกว่าใช่ไหม ได้ส่วนต่างจาก %

เรื่องภาษีสำคัญมากสำหรับมนุษย์เงินเดือน ไม่รู้ไม่ได้!!!

คุณเงินเดือน 25000 บาท คิดต่อปีเป็นรายได้ 300,000 บาท

หักลดหย่อน ได้แก่ รัฐบาลยกเว้นให้ 150,000 + ค่าใช้จ่ายเหมา 60,000 + ตัวเอง 30,000 + ภรรยาไม่มีรายได้ 30,000 + ลูกยังไม่เรียน 15,000 + ประกันสังคม 9,000 + ... (ไม่รู้พ่อแม่เกิน 60 ปีไหม ถ้าเกินลดหย่อนได้อีกคนละ 30,000) ... = 294,000 บาท

ถ้าคิดรายได้จากเงินเดือนเท่านั้น จะยังเหลือที่ต้องนำไปคิดภาษีอีก 6,000 บาท หรือเสียภาษี 600 บาท ถ้ามีดอกเบี้ยผ่อนบ้านด้วยนำมาหักลดหย่อนน่าจะไม่เสียภาษีเลย ^^

แต่คุณมีปันผลประมาณปีละ 70,000 บาท เราไม่เคยมีรายได้จากปันผลซะด้วย เลยไม่แน่ใจเรื่องภาษีส่วนนี้ แต่คิดว่าต้องเอามาบวกรวมเป็นรายได้ระหว่างปีด้วย เลยจะกลายเป็นเงินที่ต้องถูกนำไปคิดภาษีเพิ่มอีก 76,000 บาท ก็คือต้องเสียภาษี 7,600 บาท

ถ้ายังผ่อนบ้านอยู่จะได้ลดหย่อนจากดอกเบี้ยบ้านอีก สมมุติเสียดอก 50,000 บาทต่อปี ไปหักลดหย่อนได้อีก 76,000-50,000=26,000 บาท เหลือที่ต้องเสียภาษีจริง 2,600 บาท

* แปลกคนจะขายสินทรัพย์มาใช้หนี้สิน

ทั้ง ๆ ที่ยังมีรายได้เข้ามาตลอด

ทั้ง ๆ ที่รายได้ยังมากกว่ารายจ่าย

ทั้ง ๆ ที่สินทรัพย์ก็ให้เงินปันผลมากกว่าดอกเบี้ยของหนี้สินเสียด้วยซ้ำ

ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยของหนี้สินก็สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกต่อ

ทั้ง ๆ ที่สินทรัพย์ที่มีก็เป็นแนวทางที่จะทำให้มีอิสรภาพทางการเงินต่อไปได้

** เข้าใจว่าปกติแล้วคนปกติ

มักใจร้อน อยากให้หนี้สินหมดไปไว ๆ แต่...แทนที่จะคิดโปะหนี้ ด้วยวิธีการขายของเก่า

ควรลดความต้องการของตัวเองลงมาให้พอเพียงกับฐานะปัจจุบัน ถ้าอยากมีเงินเก็บมากกว่านี้ ควรขายบ้านนี้ซะ

แล้วซื้อบ้านใหม่ที่พอสมควรแก่ฐานะ อย่างที่บอกไป ไว้รวยกว่านี้ค่อยซื้อแพงกว่านี้ก็ยังได้ หรือซื้อไว้ให้คนอื่นเช่า (บ้านที่อยู่อาศัยเองไม่ได้เอาไว้ให้คนเช่า ไม่ใช่สินทรัพย์ มันคือหนี้สิน)

แต่ถ้าไม่อยากขายบ้าน (เข้าใจว่าพูดง่ายแต่ทำยาก) ก็ควรหารายได้เพิ่ม ยิ่งเป็นรายได้จากการขายของหรือไม่เสียภาษีจะยิ่งดี เพราะจะได้ไม่ไปโดนหักภาษีอีกเก็บได้เต็ม ๆ (แต่ต้องเป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฏหมายนะคะ)

แล้วคำว่า "อีกหน่อยลูกโต" ก็ควรจะรู้ว่าอีกหน่อยคือเมื่อไหร่ วางเป้าหมายการใช้เงินไว้ แล้วจะรู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องทำอะไร

ฝากข้อคิดค่ะ หนทางปลดหนี้ที่ดีที่สุด คือลดความต้องการทางด้านวัตถุของตัวเองลง ลดรายจ่ายถ้าลดได้ หารายได้เพิ่มถ้าหาได้ เพิ่มศักยภาพการทำเงินของสินทรัพย์ให้มากที่สุด

! สงบใจ สติ ศึกษา ปัญญา คิด วางแผน ลงมือทำ สำเร็จ !


more..
Monday, April 5, 2010

โลกในมุมมองของ Value Investor : อยู่กับหุ้น 100%

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ตั้งแต่ปี 2539 ผมได้ลงทุนเงินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในหุ้น ในช่วงแรก ๆ นั้น แน่นอน ผมต้องเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเป็นสภาพคล่องสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินจำนวนนั้นถ้าคิดคำนวณก็อาจจะประมาณเท่ากับ 10% ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เงินอีก 90% ผมลงในหุ้นทั้งหมด เหตุผลที่ผมลงทุนในหุ้นนั้น เป็นเพราะผมเห็นว่าหุ้นที่ผมลงทุนนั้นเป็นบริษัทที่มั่นคง มีกำไรที่สม่ำเสมอ มีปันผลที่ค่อนข้างแน่นอนประมาณไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผมลงเพราะผมเห็นว่าหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ผมจะทำได้ ผมไม่คิดว่าผมรับความเสี่ยงมากเกินไป เพราะผมถือหุ้นต่าง ๆ เกือบสิบบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งมีปัญหา บริษัทอื่นก็ยังดีอยู่และทำผลตอบแทนชดเชยได้

ผ่านมาประมาณ 14 ปี ผมก็ยังคงถือเงินสดเป็นสภาพคล่องประมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากเงินลงทุนในหุ้นของผมเติบโตขึ้นมาก เงินสภาพคล่องที่เคยเป็น 10% ของพอร์ต ตอนนี้จึงเป็นเพียง 1% ของเงินทั้งหมด การถือหุ้น “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ของผม “ตลอดเวลา” เป็นเวลา 14 ปีนั้น ได้ผ่านเหตุการณ์ “เลวร้าย” ต่าง ๆ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การถล่มทลายของตึกเวิร์ลเทรดจากการก่อการร้าย การประกาศควบคุมเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย และเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นการพิสูจน์ว่า การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น ไม่ได้อิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและก็จะจบลงไปในระยะเวลาไม่นาน

การถือหุ้น 100% นั้น นักวิชาการต่างก็พูดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากโดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอายุมากที่จะไม่สามารถรับได้หากเกิดการขาดทุนและตนเองไม่สามารถทำงานหาเงินมาชดเชยได้ การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะเหมาะก็เฉพาะคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวที่รับความเสี่ยงได้มากเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีเหตุผลที่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่าอายุกำลังใกล้เกษียณ เหตุผลของการถือหุ้น 100% นั้นมีมากมาย

ข้อแรก หุ้นนั้น ในระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดีและน่าจะดีที่สุดในบรรดาการลงทุนในตราสารการเงิน จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบว่าหุ้นให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 8-10% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 3-5% เท่านั้น และคำว่าระยะยาวนั้น น่าจะมีความหมายว่าประมาณ 10-20 ปี ดังนั้น สำหรับผมซึ่งอายุยังไม่ถึง 60 ปี และคิดว่าตนเองน่าจะอยู่ได้ถึง 80 ปีซึ่งจะทำให้ผมมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ผมจึงเห็นว่าการลงทุนในหุ้นทั้งหมดน่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุด

ข้อสอง ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป จนผมมีอายุ 70 ปี ถ้าผมยังมีความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาอยู่ ผมเองก็จะยังคงลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เหตุผลก็คือ เงินของผมที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น มันมีอยู่มากเกินพอที่ผมไม่สามารถใช้ได้หมดอยู่แล้ว เงินส่วนใหญ่นั้นคงจะส่งผ่านต่อไปที่ลูก ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูจริง ๆ ก็คืออายุของลูกไม่ใช่อายุของผม และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ควรลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ ผมไม่มีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้จ่ายในยามที่มีอายุมากขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเป็นเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อยนิดแต่อย่างใด

ข้อสาม ถ้าไม่มองในด้านของอายุหรือระยะเวลาในการลงทุน แต่ดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็จะพบว่ามันต่ำมากจนไม่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% ต่อปีนั้น ยิ่งเราเก็บไว้นานเราก็ยิ่ง “ขาดทุน” ตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนในหุ้นด้วยการเลือกหาหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม เราก็อาจจะสามารถทำเงินเพิ่มเป็นเท่าตัวได้ในระยะเวลาอาจจะไม่เกิน 5-6 ปี หรือถ้าพลาด ราคาหุ้นไม่เพิ่มเลยในช่วงเวลาหลายปีแต่ปันผลที่ได้ในแต่ละปีที่ประมาณ 3-4% ก็ยังคุ้มค่ากว่าการฝากเงินอยู่ดี ดังนั้น การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่มีข้อดีและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนที่เป็น Value Investor ผู้มุ่งมั่น

เหตุผลข้อสุดท้ายของการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่ว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้เรา “รวย” ได้ โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีเวลาลงทุนที่ยาวนานเช่นคนหนุ่มสาวทั้งหลาย ว่าที่จริง คนที่อายุยังไม่ครบ 30 ปี และมีเงินเดือนหรือรายได้ในระดับคนชั้นกลางที่ไม่มีภาระมากเกินไป และมีความมุ่งมั่นในการลงทุนเต็มเปี่ยมนั้น น่าจะสามารถรวยในระดับร้อยล้านบาทก่อนที่จะตายได้ไม่ยาก หลักการใหญ่ก็คือ เขาจะต้องลงทุนถือหุ้นชั้นนำไม่น้อยกว่า 5-6 ตัวและไม่ควรเกิน 10 ตัว ด้วยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น หลายคนอาจจะไม่แน่ใจ เพราะดูเหมือนมันจะ “ง่ายเกินไป” ความเสี่ยงดูเหมือนจะ “น้อยเกินไป” ถ้ามันดีอย่างนั้นทำไมคนจึงไม่ทำกันหมด เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้ในเวลาอันน้อยนิด ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า พอร์ตหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นก็เปิดเผย เขาถือหุ้นเหล่านั้นในระยะยาวมาก พอร์ตหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อย แล้วเขาก็รวย คำถามก็คือ ทำไมคนจึงไม่ถือหุ้นเหล่านั้นตามบัฟเฟตต์?

เรื่องของการรวยจากการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ว่าที่จริงผมได้พบ Value Investor ผู้มุ่งมั่นหลายคนทีเดียวที่ทำได้สำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีด้วยเวลาที่สั้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ คนเหล่านั้นค้นพบ “ขุมทอง” ในตลาดหุ้นและขุดมันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายคนยังไม่เชื่อว่ามีขุมทองจริง ประเด็นก็คือ เขายังไม่ได้ลองเข้ามาสำรวจ ยังไม่ได้ลงมือจับจอบเสียมและ “ขุด” พื้นดินจริง ๆ ความหมายของผมก็คือ ถ้าคุณหวังจะรวยจากตลาดหุ้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ลงทุนซื้อหุ้นในวิธีที่ถูกต้อง ไม่มีทางอื่น เริ่มเดี๋ยวนี้

more..

Sunday, April 4, 2010

ลองวิเคราะห์ประเด็นนี้ดูครับ เกี่ยวการซื้อของต่างชาติ

สมมุติว่า ขณะที่พวกเรามองกันว่านักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้


แต่ผมมองอีกประเด็นนึงว่าถ้าเกิดผมเป็นนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิในพอร์ตของนักลงทุนต่างประเทศ แล้วโอนหุ้นไปขายในพอร์ตของนักลงทุนประเภทอื่นล่ะ ทำได้หรือไม่

ถ้าทำได้จริง ก็แปลว่าในขณะที่เรากำลังมองว่านักลงทุนต่างประเทศที่เข้าซื้อสุทธิกันถึง 3-4 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ต้นปี อาจจะเป็นเพียงภาพลวงก็ได้เพราะเท่าที่ดูจากสภาพตลาดในตอนนี้ มันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิอย่างมากมายเช่นนี้กันครับ

...

เหตุผลมีครับ


1. ค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงจากความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะในประเทศกลุ่ม PIGS

2. ศก เมกากำลังเริ่มฟื้นตัวจากตัวเลขต่างๆ ที่เริ่มดีขึ้น ทั้งเรื่องการจ้างงานที่เพิ่งมาเริ่มเห็นชัดเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

3. ถึงแม้ ศก เมกาจะเรื่องดีขึ้นแต่เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียแล้วถือว่าเอเชียแข็งแกร่งกว่ามาก สังเกตุได้จาก ออสเตรเลียเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเป็นประเทศแรกเมื่อหล่ยเดือนก่อน หลังจากนั้นหลายประเทศในเอเชียเริ่มขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแล้ว

4. เมื่อ ศก เอเชียและเมกาเริ่มดี เงินทุนจะไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งในมุมมองผม ค่าเงิน USD ณ เวลาค่อนข้างจะ stable แล้ว โอกาสแข็งค่าอย่างรวดเร็วคงยากเพราะ ศก เมกากำลังฟื้นแบบช้าๆ ไม่ได้กระโดด เท่าในเอเชีย แต่ USD ก็คงไม่อ่อนค่าไปจากนี้มากแล้ว

5. หุ้นขึ้นรอบนี้อยากให้เช็คข้อมูลให้ดีว่าไม่ใช่ขึ้นเฉพาะที่ไทยนะครับ ลองดู Flow ไหลเข้าทั้งภูมิภาค และไม่ได้เข้าเฉพาะตลาดหุ้นด้วย เงินยังไหลเข้าในส่วนตลาดพันธบัตร ของไทยรอบเดือนที่ผ่านมาเงินไหลเข้าพันธบัตรเป็นหมื่นล้านนะครับ ลองเช็คดู ผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเข้าในพันธบัตรอายุน้อยกว่า 1 ปีก็ตาม แต่ในภาวะ ดอกเบี้ยขาขึ้น การถือพันธบตรยาวๆ คงไม่เป็นผลดี

6. ปัญหาการเมืองถามว่าจะมีอะไรเลวร้ายกว่านี้อีกมั๊ยครับ บทสุดท้ายผมว่าหลายๆ คนเดาออกอยู่แล้วว่าจะเป็นยังไง แล้วคิดว่า view ของ Flow จะไม่มองตรงจุดนั้นเหรอครับ

7. คนที่เป็นนักล่า หรือพวก First Mover เมื่อเห็นโอกาสแล้วเค้าจะเคลื่อนตัวเร็วกว่าคนอื่น จะสามารถทำกำไรได้มากกว่าคนอื่นนะครับ การ Flow ของเงินไม่ได้มีรอบเดียว แต่คนที่เล็งเห็นโอกาสแล้วชิงจังหวะก่อน แล้วถ้าเค้าถูกทางจนสามารถนำทางตลาดได้ ก็จะสามารถทำกำไรได้มากกว่าคนอื่น

8. ผมเชื่อว่าคนที่มองทางออกประเทศไทยออกเค้าลด Discount ของหุ้นไทยลงครับ อย่าลืมว่าตลาดไทยขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมนี้ ปริมาณเงินแค่เสี้ยวเดียวของเม็ดเงินที่เคลื่อนย้ายอยู่ทั่วโลกสามารถ ขับเคลื่อนตลาดได้มากครับ

9. สุดท้ายผมแอบคิดเล่นๆ เปรียบเทียบกับตอนปี 40 ที่ BOT เชื่อว่า Reserve ของเราสามารถสู้กับ Soros ได้ โดยคิดเอาว่า Soros ไม่ได้มีอะไรมากมาย สุดท้ายผลเป็นยังไงเราคงรู้ เม็ดเงินที่หมุนอยู่ทั่วโลกมีปริมาณมหาศาลครับ ตอนนี้ก็เช่นกับผมถามว่าสมมุติ นาย I ที่คิดว่าตนเองเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ขายเอาๆ เพราะคิดว่าตัวเองบงการตลาดได้ เงินนอกมีไม่มากหรอก แต่สุดท้ายสมมุติเหตุการเป็นแบบปี 40 สุดท้ายนาย I จะต้องกลับมาไล่ซื้อในราคาที่แพงต่อจากต่างชาติ เพราะอาจจะด้วยข้อบังคับหลายๆ อย่างที่นาย I ต้องทำตาม
 
ปล.ข้อสุดท้ายคิดเล่นๆ นะครับ เพราะถ้าผมเป็น Flow นอก ผมจะมองไปที่ปลายปีครับ ว่ายังไงๆ หุ้นแพงแค่ไหน ก็จะต้องมีคนมารับไม้ต่อ
 
more..
 
...
Saturday, April 3, 2010

เก็งกำไรหุ้น ระยะสั้น

คำภีร์เก็งกำไรหุ้น ระยะสั้น

เป้าหมาย เดือนละ 5% หรือเท่ากับปีละ 80%

ถ้าเริ่มลงทุนที่ 5 หมื่น จะกลายเป็น 1 ล้านใน 5 ปี

และจะกลายเป็น 10 ล้าน ใน 9 ปี โดยไม่ต้องใส่เงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว


- ซื้อเมื่อ มีสัญญาณซื้อ หรือหุ้นยังอยู่ในสัญญาณซื้อ (ขาขึ้น)

- ซื้อให้ถูกกลุ่ม กลุ่มต่างชาติเล่น กลุ่มรายย่อยเล่น ฯลฯ (มักจะขึ้นสลับกันไปมา)

- ถ้าอยู่ผิดกลุ่มในขาขึ้นแล้วไม่ขึ้น ให้หาจังหวะขาย ย้ายกลุ่มทันที

- ซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่อง ซื้อหุ้นที่อยู่ใน SET100 ก็พอ เพราะเป็นการประกันว่าหุ้นเหล่านี้มีพื้นฐานดีพอ

- พอร์ทเล็กไม่ถึง 5 ล้าน เล่นหุ้นทีละตัวพอ ไม่ต้องกระจายความเสี่ยง เพราะกฎนี้ไม่ต้องเสี่ยง

- ห้ามเล่นหุ้นปั่นเด็ดขาด ย้ำห้ามเด็ดขาด แม้แต่มองก็ห้ามมอง

- ภาวะตลาดปกติให้รอซื้อตอนอ่อนตัว อย่าซื้อตอนขึ้น

- ถ้าตั้งซื้อแล้วไม่ได้ของ ให้เตรียมซื้อฝั่ง OFFER ตอนที่ OFFER ใกล้จะหมดซื้อให้ทัน ถ้าไม่ทันก็รอตั้งแค่นั้น ไม่ได้ก็ไม่ต้องเอา

- อย่าซื้อเมื่อหุ้นขึ้นแรงมาแล้ว 3 วันติดต่อกัน (ส่วนมากวันที่ 4 จะลง หรือถ้าไม่ลง วันที่ 5 ลงแน่ๆ)

- สัญญาณซื้อยังไม่ปรากฏไม่ต้องซื้อ ให้หาตัวอื่นที่มีสัญญาณ ถ้าไม่มีก็รอ รอๆ

- ห้ามซื้อตอนหุ้นเด้งขึ้นเด็ดขาด เมื่อหุ้นกำลังอยู่แนวโน้มขาลงตามเทคนิค

- อย่าซื้อเมื่อมีรายใหญ่ขายล็อตใหญ่ๆ มากกว่าซื้อ เพราะซื้อให้ตายก็ไม่ขึ้น

- ห้ามตั้งรับหุ้นเมื่อหุ้นลงแรงๆ เด็ดขาด หยุดซื้อไปเลย รอเมื่อมีสัญญาณซื้อค่อยเข้า

- อย่าซื้อหุ้นเพื่อเอาเงินปันผล ให้ขายก่อน XD


- ตลาดในภาวะปกติกำไร 2% ขายทันที ห้ามเสียดาย (อย่าลืมเป้าหมายเดือนละแค่ 5% เท่านั้น ได้ 2% เยอะแล้ว)

- ภาวะตลาดปกติ ให้ตั้งขายไว้ที่ กำไร 2% ทุกวันก่อนตลาดเปิดตอนเช้า

- ภาวะกระทิง ถ้าขึ้นแรง ให้กำหนดจุดขายขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วให้ขายเมื่อตกลงมา 3 ช่อง

- ขายเมื่อ ซื้อแล้วไม่ขึ้น ขายทิ้งมื่อลงมาเกิน 1.5% หรือ 3 ช่อง ย้ำต้องขาย ไม่เช่นนั้นอาจติดดอยจบสิ้นทุกอย่าง

- อย่ากลัวขายหมู ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้นขายตามกฎทันที

- ขายเมื่อ ซื้อแล้วสัญญาณเทคนิคกลับตัวบอกให้ขายทั้งที่ขึ้นมาไม่ถึง 2% ให้ขายไปก่อน (อย่ารอให้ขาดทุน)

- ระวังอย่าซื้อหุ้นที่ใกล้ถึงแนวต้านจิตวิทยาสำคัญๆ เช่น ใกล้ถึง 10, 15, 20 บาท เพราะมันมักจะผ่านยาก

- ไม่ต้องหาเหตุผลว่าทำไมหุ้นขึ้นหรือลง มันมักอยู่เหนือเหตุผลของเราเสมอ ทำตามกฎของเราพอ

- หุ้นที่ซื้อแล้วไม่ควรเกิน 1 อาทิตย์ต้องได้ขาย ถ้ายังไม่ได้ขายแสดงว่าหุ้นตัวนั้นไม่เหมาะที่จะเล่นในช่วงนี้ ขายทิ้งซะเสียเวลาเปล่า

- สัญญาณเทคนิคที่ใช้ MACD ดูแนวโน้มว่าอยู่ในขาขึ้นหรือลง และ Stochastic ใช้ดูระยะสั้น

- ไม่ต้องสนใจถ้ามีคนบอกว่ากำไร 10% 20% ส่วนมากสุดท้ายแล้ว ขาดทุนหรือติดหุ้นอยู่แทบทั้งนั้น

- ถ้ามีอารมณ์อยากซื้อสุดๆ ให้กลับไปอ่านกฎทุกข้ออีกครั้งว่าควรซื้อหรือไม่

เขาให้มาแบบนี้ เอาไปปรับใช้กันดูเองนะครับ น่าจะพอมีประโยชน์บ้าง

ทั้งหมดที่คำภีร์เล่มนี้ว่ามา คนที่เก่งพอที่จะจับจังหวะซื้อได้ เขาคงไม่เอากำไรแค่ 2%


ดังนั้นคำภีย์เล่มนี้จึงไม่เหมาะกับคนเก่ง คนที่เก่งบ้างไม่เก่งบ้าง ซื้อ 10 ครั้ง ถูก 5 ครั้ง ผิด 5 ครั้ง ก็ขาดทุนไม่ก็เหนื่อยฟรี คนที่ไม่เก่งเลยยิ่งห้ามเล่นห้ามใช้ เพราะใน 1 ปีจะมีขาขึ้นให้เล่นแบบนี้ได้กี่ครั้งเจอขาลงแค่ 758 ลงมา 679 ก็โดดตึกแล้ว


สรุปใครจะเหมาะสมกับคำภีร์เล่มนี้


more..

สนับสนุนโดย บริษัทเจนเทคโนโลยี จำกัด

รับสมัครพนักงานขายอิสระ (ฟรีแลนซ์) สินค้าของบริษัทเจนเทคโนโลยี จะเน้นขายในแหล่งเพาะปลูกโดยตรง (อุตสาหกรรมเกษตร) และร้านต้นไม้ที่มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว จึงเน้นการขายที่ปริมาณ (volume) เป็นหลัก

มีค่าเดินทางสนับสนุนการขาย คลิ๊กที่นี่!!

คลิ๊กเพื่อชม Mini Mp4